การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย หมายถึง การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ความสำคัญของการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย การจัดประสบการณ์ตามแผนการจัดประสบการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาประถมศึกษาแห่งชาติ (2540 : 24) มีดังนี้คือ เป็นการจัดโดยยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กอายุ 3 - 6 ปี ทั้งเด็กปกติ เด็กด้อยโอกาสและเด็กพิเศษเพื่อให้เด็กพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ผ่านกิจกรรมการเล่นที่เหมาะสมกับวัย และความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจ
ในการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาและเป็นความร่วมมือระหว่างบ้านสถานศึกษาและชุมชน ที่มุ่งจะพัฒนาให้เหมาะสมกับวัย และมีความแตกต่างของแต่ละบุคคลทั้งทางด้านร่างกายอารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ครอบคลุมประสบการณ์สำคัญที่เด็กได้รับ 9 ประการ ได้แก่การสื่อสารความคิดที่เป็นการกระทำ การใช้ภาษา การเรียนรู้ทางสังคม การเคลื่อนไหว ดนตรี การจำแนก เปรียบเทียบ จำนวน มิติสัมพันธ์ และเวลา
สิ่งสำคัญในการจัดประสบการณ์ คือ ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง จัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับวัย ความสนใจ ความต้องการความแตกต่างระหว่างบุคคลในบรรยากาศที่อบอุ่นต่อการเรียนรู้โดยใช้บูรณาการ ผ่านการเล่นอย่างหลากหลายเป็นประสบการณ์ตรงที่เด็กมีโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
เยาวพา เดชะคุปต์ (2542 : 14) กล่าวว่าการศึกษาปฐมวัย หมายถึง การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ซึ่ง bloom กล่าวว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของสติปัญญามนุษย์จะเริ่มพัฒนาขึ้นในช่วง 4 ปีแรกของชีวิตอีก 30 เปอร์เซ็นต์จะพัฒนาขึ้นในช่วงต่อไป
กุลยา ตันติผลาชีวะ (2542 : 17) กล่าวว่าการจัดการศึกษาปฐมวัย หมายถึง การจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีอายุแรกเกิดถึงอายุ 8 ปี การศึกษาอนุบาลเป็นการศึกษาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย ความคิด สติปัญญา สังคมและอารมณ์