หลักการจัดการศึกษาปฐมวัย

                หลักการจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นหลักสำคัญในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาหลักสูตรให้เข้าใจ เพราะในการจัดประสบการณ์ให้เด็กอายุ 3 - 5 ปี จะต้องยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูควบคู่กับการให้การศึกษา โดยต้องคำนึงถึงความสนใจและความต้องการของเด็กทุกคนทั้งเด็กปกติ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ และเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา รวมทั้งการสื่อสารและการเรียนรู้หรือเด็กที่มีร่างกายพิการ หรือ ทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาส เพื่อให้เด็กพัฒนาทุกด้านทั้งด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาอย่างสมดุล โดยการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย บูรณาการผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เป็นประสบการณ์ตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เหมาะสมกับวัย และความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่เด็กกับผู้เลี้ยงดูหรือบุคลากรที่มีความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาปฐมวัย เพื่อให้เด็กแต่ละคนได้มีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นตอนของพัฒนาการสูงสุดตามศักยภาพและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข เป็นคนดีและคนเก่งของสังคม และสอดคล้องกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา สภาพทางเศรษฐกิจ สังคมโดยความร่วมมือจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น
                สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาประถมศึกษาแห่งชาติ (2540 : 23)  ได้กล่าวถึง หลักการจัดกิจกรรมที่คำนึงถึงตัวเด็กแต่ละคนซึ่งมีความสนใจแตกต่างกันจึงควรให้มีกิจกรรมหลายประเภทให้เหมาะสมกับวัย ตรงตามความสามารถและความต้องการของเด็ก และจัดให้มีทั้งกิจกรรมที่ให้เด็กได้ทำเป็นรายบุคคล กลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ควรเปิดโอกาส ให้เด็กได้ริเริ่มกิจกรรมด้วย ตนเองกิจกรรมที่จัดมีความสมดุล คือ ให้มีทั้งกิจกรรมในห้องเรียนและนอกห้องเรียน กิจกรรมที่เคลื่อนไหวและสงบ ที่เด็กริเริ่ม และครูริเริ่ม ระยะเวลาในการจัดกิจกรรมควรเหมาะสมกับวัยมีการยืดหยุ่นได้ตามความต้องการและความสนใจของเด็กควรเน้นสื่อของจริงได้มีโอกาสสังเกต สำรวจ ค้นคว้า ทดลองแก้ปัญหาด้วยตนเองมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเด็กอื่นๆ และผู้ใหญ่ การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยจะไม่จัดเป็นรายวิชา แต่จัดในรูปแบบของกิจกรรมบูรณาการผ่านการเล่น เพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงเกิดการเรียนรู้ได้พัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
                หลักการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 มีสาระสำคัญ ดังนี้
                                1. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่ครอบคลุมเด็กปฐมวัยทุกประเภท
                                2. ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงความแตกต่าง ระหว่างบุคคลและวิธีชีวิตของเด็กตามบริบทของชุมชน สังคม และวัฒนธรรมไทย
                                3. พัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เมาะสม
                                4. จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และมีความสุข
                                5. ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก
                เยาวพา เดชะคุปต์ (2542 : 15) ได้กล่าวถึง แนวในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในทศวรรษหน้าไว้ดังนี้
                                1. มีการจัดการเรียนรู้แบบหน่วยการสอน โดยไม่มีการแยกเป็นรายวิชาโดยเน้นการพัฒนาผู้เรียนทุก ด้านเป็นสำคัญ โดยเน้นการเล่นเป็นหัวใจของการเรียนรู้
                                2. มีการพัฒนานำเอานวัตกรรมทางการศึกษาปฐมวัยมาใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมและเลือกประสบการณ์และการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับเด็ก
                                3. มีการจัดกิจกรรมการเล่นแบต่างๆบรรจุไว้ในกิจกรรมประจำวันเพราะ การเล่น เป็นหัวใจของการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้ซึ่งนำไปสู่การคิดแก้ปัญหาและการสร้างสิ่งต่างๆ อีกด้วย
                                4. กิจกรรมที่จัดควรเน้นการปฏิบัติจริง เช่น การทำอาหาร ไปทัศนศึกษา เป็นต้น
                                5. ให้เด็กเลือกกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง และตั้งเป้าหมาย ฝึกสร้างให้คิด กล้าคิด กล้าทำ การคิดริเริ่มและพัฒนาการเป็นตัวของตัวเอง